
คนในป่า
แก่งกระจาน
คนในป่าแก่งกระจาน
หลังประกาศเป็นป่ามรดกโลกแล้ว กลุ่มป่าแก่งกระจานมีเรื่องราวมากมายที่หลายฝ่ายพูดถึง ทั้งการอพยพชาวบ้านบางกลอยลงมาจากใจแผ่นดิน การจัดการที่ดินที่ไม่เหมาะสม การจัดการเยียวยาที่ไม่สัมฤทธิ์ผล กระนั้นยังมีอีกหลายชุมชนในทีอยู่อาศัยอยู่ในกลุ่มป่าแก่งกระจานมาอย่างยาวนานก่อนการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ แต่ประชาชนก็ปรับตัวเพื่อที่จะใช้ชีวิตภายใต้กฎหมายอนุรักษ์ของภาครัฐเช่นกัน แม้หลายอย่างจะยังไม่ลงตัว เพราะความไม่ชัดเจนของการจัดการในระบบราชการของประเทศไทย แต่ก็ยังพอหาจุดร่วมที่จะทำให้ประชาชนที่อาศัยในที่ดินของบรรพบุรุษใช้ชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟู รักษา และเพิ่มประสิทธิภาพระบบนิเวศบริการให้มั่นคงยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าได้อย่างสมบูรณ์

บ้านปางไม้
ที่ทำกินในชุมชนบ้านปางไม้นั้นมีทั้งที่เป็นของคนในชุมชนเองที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษและมีเจ้าของที่ดินเป็นคนจากนอกชุมชนที่เข้ามาทำกินด้วย และมักพบปัญหาการบุกรุกที่ป่าเพิ่ม ชาวบ้านจึงร่วมตัวกันเพื่อสร้างขอบเขตการทำกินด้วยการปลูกต้นไม้ยืนต้นเป็นแนวเขต เพื่อที่อนาคตต้นไม้ที่เติมโตขึ้นนั้นจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกขอบเขตที่ทำกินที่ชัดเจนที่สุด ด้วยการสนับสนุนต้นกล้าพันธุ์ไม้ต่าง ๆ จากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF-SGP Thailand)
"เสามันโยกย้ายได้ แต่ถ้าเป็นแนวต้นไม้มันจะย้ายไม่ได้ อีกทั้งบางต้นมันยังเป็นอาหารได้ด้วย" ผู้ใหญ่...อธิบายการจัดทำแนวเขตที่ทำกินโดยการปลูกต้นไม้
"เราไม่ต้องการให้ใครก็ตามเข้ามาบุกรุกที่ป่าเพิ่ม มันจะสร้างปัญหาให้คนในชุมชน" หญิง....กล่าวเสริม
ที่บ้านปางไม้เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ทำการเกษตร พืชผลที่ปลูกผสมผสานทำให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอดปี ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน ขนุน กล้วย มะนาว ฝรั่ง มะเขือ ฯลฯ เกษตรผสมผสานสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้ ลดการใช้ทรัพยากรจากป่า
"ตอนนี้เราพยายามรณรงค์ให้คนผลิตอาหารกินเองได้ ทั้งกาปลูกและสัตว์ งดการล่าสัตว์ป่า แต่ก็มีคนนอกแอบเข้ามาเหมือนกัน"
นอกจากการทำเกษตรแล้ว ชาวบ้านยังต้องการเพิ่มการปลูกไม้เศรษฐกิจด้วย เช่นไม้พะยูง ไม้สัก ไม้ยาง ฯลฯ เพื่อเป็นไม้ใช้สอยและสำหรับขายเป็นรายไดเ ลดการใช้ไม้จากป่า แต่ยังติดที่ข้อกฎหมายห้ามตัดไม้ ซึ่งแม้จะมีการทำขอบเขตที่ทำกินชัดเจนแล้ว การปลูกไม้เศรษฐกิจก็ยังไม่มีใครกล้าที่จะลงมือปลูก เพราะยังไม่มองไม่เห็นความชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ในเรื่องของการขึ้นทะเบียนไม้หรือระบบการจัดการตอนตัดไม้ได้


"เราอยากจัดการขอบเขตที่ทำกินให้ชัดเจน ไม่อยากให้มีใครมาบุกรุกเพิ่ม ไม่อยากมีปัญหากับเจ้าหน้าที่อีกแล้ว"




บ้านป่าเด็ง
เนื่องจากบ้านป่าเด็งอยู่นอกเขตสายส่งไฟฟ้า เพราะติดข้อจำกัดจากกฎหมายอนุรักษ์ป่า ทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่งผลต่อรูปแแบการผลิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ด้วยข้อจำกัดนั้นทำให้เกิดโครงการมากมายที่บ้านป่าเด็งเพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการฟื้นฟู รักษาระบบนิเวศบริการของป่าโดยรอบชุมชนไปด้วย
แม้อยู่ในหุบเขา ล้อมรอบด้วยป่าครึ้ม แต่พลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังเป็นทางเลือกหลักในการผลิตพลังงานสำหรับบ้านป่าเด็ง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ได้ในระดับหนึ่ง พลังงานแสงอาทิตย์ยังทำหน้าที่ในกระบวนการผลิตอาหาร ถนอมอาหาร แปรรูปอาหารอีกด้วย อีกทั้งยังมีการผลิตแก๊สชีวภาพไว้ใช้ในครัวเรือนอีกด้วย ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนพร้อมกับกำจัดขยะเศษอาหาร
ในด้านความมั่นคงทางอาหารนั้นมีการผลิตอาหารเท่าที่พื้นที่จะเอื้ออำนวย ใช้พื้นที่ให้น้อย และสร้างผลผลิตให้มาก ทั้งการทำโรงเห็ดที่ออกมาไม่พอขาย การผลิตแป้งจากกล้วยที่มีผลผลิตมากมายในชุมชน การเลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา และปลูกพืชหลากหลายชนิด เหล่านี้ล้วนเป็นการเริ่มต้นการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ไม่ต้องไปเบียดเบียนระบบนิเวศบริการมากเกินไป
บ้านป่าเด็งยังเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับชาวบ้านในชุมชนอื่นเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ทั้งระบบการเกษตร เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด การแปรรูปผลผลิต และการทำการตลาด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพบุคคลและความร่วมมือในการจัดการระบบนิเวศกลุ่มป่าแก่งกระจาน






การศึกษาดูงานของชาวบ้านจากชุมชนอื่น เพื่อเรียนรู้การพัฒนาไปพร้อม ๆ กันของชุมชนในป่าแก่งกระจาน



บ้านเขาแหลม
บ้านเขาแหลมประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทานการเพาะปลูกพืชจึงจำเป็นต้องอาศัยน้ำฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ฝนมักจะทิ้งช่วงทำให้แห้งแล้งขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และเนื่องจากการอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่นั้นทำไม่ได้ จึงต้องมีการสร้างแหล่งน้ำสำรองขนาดเล็กไว้แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ชาวบ้านจึงยังคงต้องพึ่งพาการเก็บหาของป่าอยู่ เพราะอาชีพเกษตรนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ด้านแนวเขตมีการจัดการอย่างชัดเจน มีการปลูกไม้ยืนต้นเป็นแนวเขต เพื่อป้องกันการรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม เป็นรูปแบบการดำเนินการคล้ายกับหลายชุมชนในป่าแก่งกระจาน
บทบาทของสตรีในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันแปรรูปพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะ กล้วย ที่มีจำนวนมากในชุมชน การแปรรูปเป็นกล้วยทอดเป็นรายได้อีกทางหนึ่งที่สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ทั้งนี้ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้ทางด้านการตลาด เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การขายผ่านออนไลน์ การส่งเสริมการตลาดต่างๆ ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไปในอนาคต






"ชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าแก่งกระจานหลายแห่งล้วนพร้อมตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กฎหมายอนุรักษ์ป่า เพียงแต่ต้องมีความชัดเจนจากภาครัฐในหลายกรณี และมีบางอย่างที่ควรต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น พร้อมๆไปกับการรักษาระบบนิเวศที่สมบูรณ์นี้คงอยู่อย่างยั่งยืน"